บทความเรื่องCMS คืออะไร? มีอะไรบ้าง?
เว็บไซต์ ถือเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับ Internet มานานแล้ว ในยุคดิจิตอลแบบนี้ เว็บไซต์มีมากมายเป็นพันๆหมื่นๆล้านกันเลยทีเดียว เพราะว่าการจะทำเว็บไซต์ขึ้นมาสักเว็บหนึ่งเนี่ย ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ถ้าไม่รวมขั้นตอนการจดโดเมนแล้วเนี่ยไม่เกิน 10 นาทีเว็บไซต์คุณก็สามารถเริ่มใช้งานกันได้แล้ว (แต่ถ้าเป็นเว็บที่คุณพัฒนาขึ้นมาเองอันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง) ถือว่าไวมาก แต่ทว่าก่อนที่จะมาเป็นเว็บไซต์ในแบบปัจจุบันนั้น การสร้างเว็บไซต์ ขึ้นมาสักเว็บหนึ่งเนี่ย ใช้เวลาพอสมควรเลยเชียวแหละครับ ถ้าจะให้ผมจำแนกเว็บ(แบบคร่าวๆ) ในแง่ของการอัพเดตข้อมูลเว็บไซต์ เวลาพูดกันในวงการคนทำเว็บแล้วเนี่ย ก็จะแบ่งออกเป็น
- Static Website คือเว็บไซต์แบบที่พัฒนาโดยไม่ได้มีการรองรับการอัพเดตข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคต หรือไม่มีการรับข้อมูลจากผู้ใช้งานทั่วไป คือว่าง่ายๆ เป็นเหมือนใบปลิวเท่านั้น ทั่วๆไปที่จะเห็นก็จะเป็นเว็บไซต์ประเภท เว็บองค์กร, เว็บบริษัท, เว็บส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งจะ 1 ปี หรือ 5 ปี ข้อมูลมันก็ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไร เค้าก็จะทำเว็บไซต์เป็นแบบ Static นี่แหละครับ ไม่ต้องการการอัพเดต ง่าย สะดวก ไม่ต้องมีระบบจัดการใดๆ ไม่มีฐานข้อมูล(database) รวมถึงไม่มี CMS ด้วย ซึ่งในการขั้นตอนการพัฒนา ก็มักจะเป็นการเขียน html ล้วนๆเลยครับ มี css และ JavaScript บ้าง หรืออาจจะมี flash เป็นส่วนประกอบ แต่แน่นอนมักจะไม่มีภาษาทางด้าน server อย่าง php หรือ asp เป็นองค์ประกอบสักเท่าไร อย่างมาก ก็หน้าประเภท Contact Us เพื่อส่ง E-mail เป็นต้นครับ เราแทบจะไม่เห็น Static Website แล้วในปัจจุบัน นอกจากบริษัทที่ค่อนข้างจะขี้เหนียวในการควักกระเป๋าเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์เท่านั้น
- Dynamic Website บางครั้งเนี่ยพวกที่นิยมศัพท์เทคนิค เค้าก็จะนิยามเว็บไซต์ประเภทนี้ว่าเป็น web 2.0 อะไรแบบนั้น แต่ใน Concept ที่แท้จริงแล้วเว็บไซต์แบบไดนามิคเนี่ย หมายถึงเว็บไซต์ที่มีการเปลี่ยนแปลง และอัพเดตข้อมูลได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนประเภท Static Website ที่จะอัพเดตข้อมูลกันที่ ก็ต้องไปนั่งแก้ HTML แล้วทำการ FTP ขึ้น Host อยู่ร่ำไป เว็บไซต์ไดนามิค เริ่มใช้กันมากขึ้นมากๆ ตั้งแต่ต้นยุค 2000 เพราะเว็บไซต์หลายๆเว็บต้องมีการอัพเดตกันอยู่บ่อยๆ แรกเริ่มเดิมที การอัพเดตข้อมูลมักจะเป็นผู้ดูแลระบบ(Admin) กัน แต่พอมาเป็นยุค 2.0 จริงๆ เว็บไซต์ส่วนมากจะให้ผู้ใช้งานเนี่ย เป็นผู้สร้าง Content ขึ้นมาในเว็บไซต์ของตัวเอง เค้าเรียกกันว่า UCC(User Create Content) ในช่วงแรกๆ เราจะเห็นเว็บไซต์ประเภท Blog สร้าง Story ของตัวเองขึ้นมา และก็จะมีเว็บไซต์ประเภท Webboard อีกเหมือนกัน ที่ User เข้ามาสร้างเนื้อหา สุดท้ายก็จะเป็น Social Network อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันเนี่ยแหละ หมดเวลาที่ Admin เป็นผู้สร้างเนื้อหาแล้ว Admin จะเป็นผู้กรองข้อมูลเท่านั้น ปล่อยให้ User เป็นผู้สร้างแทน ซึ่งเท่าที่เล่ามาทั้งหมดเนี่ย Website แบบ Dynamic จึงต้องการระบบจัดการเนื้อหาภายในเว็บไซต์ หรือเจ้า CMS เนี่ยแหละ เพื่อสะดวกรวดเร็วในการทำงานแบบ Interactive มากขึ้น ไม่ต้องมานั่งแก้ HTML กันอีกต่อไป ในรายละเอียดจะเล่าต่อไปครับ
CMS ย่อมาจาก
ทีนี้เรามาพูดถึงเจ้า CMS กันบ้าง โดย CMS เนี่ย มันย่อมาจาก Content Management System แปลเป็นไทยก็ตรงๆตัวเลยครับ ระบบจัดการเนื้อหา ในทีนี้เราหมายถึงเนื้อหาในเว็บไซต์นั่นแหละครับ โดยสรุป มันคือโปรแกรมประยุกต์สำหรับให้ผู้เผยแพร่เนื้อหาเว็บไซต์ สามารถจัดการเนื้อหาได้ ทั้งเพิ่ม ลบ และแก้ไขเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาประเภทข้อความ รูปภาพ หรือสื่อมัลติมีเดียร์ทั้งเพลงและคลิปวีดีโอเป็นต้น โดยมักจะนิยมใช้งานกับเนื้อหาตัวอย่างเช่น Blog, ข่าวสาร, สินค้า หรือเว็บไซต์ eCommerce เป็นต้น
CMS คืออะไร?
CMS หมายถึง โปรแกรมทาง Computer ที่ถูกใช้งานอยู่บน Web Server โดยพัฒนามาจากภาษาทางคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้กัน อาทิเช่น PHP, ASP หรือ JPS แต่ที่นิยมกันมากที่สุดก็คือ PHP
การใช้งาน CMS ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรมเลยก็ได้ เพราะระบบ CMS ส่วนใหญ่ ที่ดี มักจะใช้งานง่าย เหมือนเว็บไซต์ที่เราใช้งานกันปกตินั่นแหละ อันที่จริงแล้วระบบเว็บไซต์ทั้งหมดที่เราใช้งาน ทั้งเว็บบอร์ด, blog, facebook, twitter ฯลฯ มันก็คือ CMS ประเภทหนึ่งนั่นแหละครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเรามีความรู้ทางด้านภาษา HTML บ้างสักนิดหน่อย เราก็จะใช้ประโยชน์ รวมถึงเข้าใจระบบการทำงานของ CMS ได้มากกว่าคนทั่วไป ก็เท่านั้นเองครับ
ประเภทของ CMS
ถ้าเราจะเจาะจงลงมาสักหน่อย อันที่จริงแล้วเราควรเรียก CMS ว่า Web CMS นะครับ เพราะเราใช้มันในการจัดการเนื้อหาเว็บไซต์โดยเฉพาะ ทีนี้ แบ่งง่ายๆเนี่ย ประเภทของ Web CMS มันก็จะมีอยู่ ดังนี้
- Personal CMS เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาใช้งานเอง หรือเพื่อให้ผู้อื่นมาร่วมใช้ อาจจะใช้งานกับเว็บไซต์ของตัวเอง หรืออาจจะใช้งานสำหรับบริษัท หรือองค์กรต่างๆ โดยพัฒนาด้วยคนๆเดียว หรือเป็นทีม อาจมีการสร้างเป็น Framework ขึ้นมาเพื่อสะดวกแก่การพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่ง CMS ประเภทนี้มักจะมีความต้องการในการใช้งานเฉพาะทาง จึงต้องการการพัฒนาที่แตกต่างจาก CMS โดยทั่วๆไปนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเป็น CMS ระบบ Delivery สินค้า ซึ่งแน่นอน ถ้าเป็นเว็บไซต์ทั่วๆไปคงไม่ต้องการ Feature นี้ เป็นต้น
- Public CMS เป็น CMS ที่ถูกพัฒนาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเอาไปติดตั้งเองได้ มีทั้งแบบ ฟรี CMS และแบบเสียตัง ถ้าอยากอัพเกรดเป็น Premium ข้อดีคือใช้งานง่าย แต่อาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมบ้างหากใช้งานครั้งแรก CMS บางตัวมีการพัฒนาตลอดเวลา ทันสมัย มีระบบใหม่ๆที่ช่วยให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเสียคือบางครั้งด้วย Features ที่ดูธรรมดาเกินไป อาจจะหา CMS ที่มี features พิเศษ ตรงกับความต้องการของเราจริงๆยากไปบ้างนั่นเอง
CMS มีอะไรบ้าง
ถ้าถามว่า CMS มีอะไรบ้าง เนี่ย มันมะเยอะแยะ เต็มไปหมดเลย ทั้ง JAVA, ASP, Pearl หรือแม้แต่สุดฮิตอย่าง PHP ซึ่งมันเยอะแยะมากจริงๆ มีอะไรบ้างคงเอามาบอกให้ไม่หมดแต่ถ้าเอาเป็นแบบว่า cms ยอดนิยม เนี่ยจะแนะนำง่ายกว่า
CMS ยอดนิยม
ถ้าให้แนะนำ CMS ยอดนิยม ก็ตามนี้เลยครับ (ไม่ได้จัดอันดับนะครับ)
ชื่อ CMS | ประเภท | รายละเอียด |
WordPress
|
Blog | เรียกว่าเป็น CMS อันดับ 1 ไปแล้วก็ได้รับ แรกเริ่มเดิมที wordpress ถูกออกแบบมาให้เป็นเว็บบล็อค(ปัจจุบันก็ยังเป็น) แต่ผู้ใช้งานเอาไปประยุกต์ใช้งานกันหลากหลายจริงๆ เพราะมี Plug-in ต่างๆให้เลือกใช้มากมาย Theme ก็มีผู้พัฒนาเต็มไปหมด.. CMS Download |
Joomla
|
CMS Software | Joomla ถือว่าเป็น CMS ที่ดูเป็น CMS จริงๆ เหมาะสำหรับในการสร้างเว็บไซต์ทั่วๆไป ชื่อนี้คุ้นหูวงการทำเว็บไซต์บ้างเรามากมาย เพราะเว็บไซต์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเว็บไซต์หน่วยงาน องค์กรราชการต่างๆ มักจะใช้งาน CMS ตัวนี้ครับ.. CMS Download |
PhpBB
|
Forum | ถือเป็น CMS ประเภท Webboard ที่นิยมมากที่สุดตัวหนึ่งในบ้านเราก็ว่าได้ครับ ลองหามาใช้งานกันได้ครับ แต่ต้องคอยจัดการดูแลมันดีๆนะครับ ไม่งั้นจะโดนพวก Spam มาถล่มเว็บไซต์ของท่านได้.. CMS Download |
Magento
|
eCommerce | เป็น CMS ประเภท eCommerce พัฒนาโดย eBay สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างเว็บไซต์เอาไว้ใช้ขายของโดยเฉพาะ เหมาะกว่าการลง WordPress แน่นอนครับ เรื่อง Features ในการจัดการสินค้า stock หรือแม้แต่ระบบ currency นั้นมีให้ครบมากกว่าครับ.. CMS Download |
PrestaShop
|
eCommerce | เป็น CMS ประเภท eCommerceอีกตัวที่ได้รับความนิยมไม่น้อยเลย Features มาครบมาเต็มใกล้เคียงกับ Magento ส่วนตัวผมจะชอบ Presta Shop มากกว่า เพราะว่ามี Theme สวยๆให้เลือกใช้งานกันค่อนข้างเยอะทีเดียว.. CMS Download |
ทีนี้ก่อนจะเลือกใช้งาน CMS ไหน เราต้องเริ่มเข้าใจแล้วละว่า ความต้องการของเราคืออะไร เพื่อที่จะเลือกใช้ CMS ได้เหมาะกับเว็บไซต์ของเราได้มากที่สุดครับ แต่ว่าถ้ายังไม่มีที่ถูกใจจริงๆ สงสัยคุณคงต้องพัฒนามันขึ้นมาเอง หรือจ้างเค้าเอาแล้วละครับ